ป่าโกงกาง ศูนย์สิรินาถราชินี
ศูนย์สิรินาถราชินี ฟื้นผืนป่า จากนากุ้ง สู่ทุ่งโกงกาง :
ที่มาของ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ศูนย์สิรินาถราชินี … จากพื้นที่ ที่เคยเป็นสัมปทานนากุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า-คลองคอย ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2524 – 2539 วันนี้… ได้กลายเป็นผืนป่าโกงกางที่กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง ก็เพราะได้รับน้ำพระราชหฤทัยจาก “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ที่ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลน เมื่อครั้งเสด็จฯ ปราณบุรี ปี พ.ศ.2539 จึงได้มีพระราชดำริให้ฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ขึ้น ทางกรมป่าไม้สนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งยังดำเนินการฟื้นฟูป่าด้วยการกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกป่า (Forest Plantation Targer- FPT) ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ.2545… ครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ได้มีพระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า “ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย” ทาง ปตท. จึงหารือกับกรมป่าไม้ และชุมชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาป่าปลูกแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน จึงได้ก่อตั้งเป็น “ศูนย์สิรินาถราชินี” นี้ขึ้นมา
ที่นี่จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นกลุ่มอาคารสำหรับแสดงนิทรรศการต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน มีประวัติ และภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งก่อน และหลังที่เข้ามาพื้นฟูให้ได้เดินชมกัน ส่วนที่ 2 จะเป็นพื้นที่ให้เข้าไปสำรวจธรรมชาติของระบบนิเวศกันจริงๆ มีทางเดินที่ร่มรื่นเป็นระยะทางกว่า 1,000 เมตร โดยจะมีแผนที่บอกเส้นทาง และความสำคัญของแต่ละจุดอย่างชัดเจน
หากเริ่มต้นเดินจากเรือนนิทรรศการ เราจะพบกับ “ศาลาท่าตะบูน” เป็นพลับพลาที่เคยใช้รับเสด็จ “ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” และมีต้นโกงกางประวัติศาสตร์ที่ทรงปลูก ระหว่างเส้นทางที่เดินช่วงต่อไป ก็จะพบกับซุ้มแสดงอุปกรณ์การทำประมงพื้นถิ่นของชาวบ้านให้ดูกันเพลินๆ
ถัดไปก็จะเจอ “หอชะคราม” หอสูง 20 เมตร ที่มีวิว 360 องศา ให้ขึ้นไปชมบริเวณรอบๆ กันได้ สามารถมองเห็นทะเล ภูเขา ปากแม่น้ำปราณบุรี ชุมชนปากน้ำปราณ และทิวทัศน์ของต้นโกงกางมุมสูงที่เขียวขจีทั้งผืนป่า… ตามเส้นทางไปอีกสักพัก ก็จะมีจุดให้นั่งพักรับลมเย็นๆ กันที่ “ศาลาท่าน้ำ” ซึ่งหากจังหวะดีๆ ที่น้ำขึ้น จุดนี้ก็สามารถติดต่อเรือของชาวบ้านให้พาล่องชมธรรมชาติกันได้อีก
หรือจะเดินไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกับลานปู และลานหอย เป็นลานศึกษาชีวิตของปูดำ และหอยนางรม ระหว่างที่เดินชมทั้งสองข้างทาง ก็จะมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้นโกงกางทั้งน้อยใหญ่ บรรดาปูต่างๆ อย่าง “ปูดำ” “ปูแสม” “ปูก้ามดาบ”… หรือตามแอ่งที่มีน้ำขัง ก็จะมี “ปลาตีน” แต่ต้องสังเกตกันดีๆ หน่อย เพราะเจ้านี่ชอบซ่อนตัวกลมกลืนอยู่กับดินโคลน
ลองเดินเงียบๆ แล้วเงี่ยหูฟัง ก็จะได้ยินเสียง “กุ้งดีดขัน” ดีดก้ามดังเปาะแปะ! บางทีก็จะมี “ตัวเงินตัวทอง” เดินออกมาโชว์ตัวให้เห็นกันบ้าง หรือใครที่ชอบดูนก ก็สามารถพกกล้องส่องทางไกลไปดูกันได้ เรียกได้ว่าป่าแห่งนี้ ได้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งจริงๆ เพราะมีสัตว์น้อยใหญ่หลากหลายสายพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ เป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าเข้ามาสัมผัส พลาดไม่ได้นะครับ ชวนเที่ยว!
“ศูนย์สิรินาถราชินี” เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. อีกทั้งยังมีกิจกรรมดีๆ ให้เข้าร่วมอีกมากมาย การเดินทางหากเริ่มจากหัวหิน ให้วิ่งไปทางทิศใต้ประมาณ 14 กม. แล้วเลี้ยวเข้าซอยหัวหิน 105 (ถนนหมายเลข 1019) เมื่อข้ามทางรถไฟ ให้เลี้ยวขวาตามทางที่ลดเลี้ยวไปมาอีกราวๆ 8 กม. ซึ่งเป็นทางลัดไปสู่ ต.ปากน้ำปราณ จะมีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน หาไม่ยากครับ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์ 032-632255
หรือที่ Facebook : @SirinartCenter
Text & Photo : © Hua Hin Pocket Guide
** รายละเอียดสถานที่ ราคา และข้อมูลการติดต่อ เป็นข้อมูล ณ วันที่ไปทำรีวิว หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง กรุณาแจ้งทีมงาน HuaHinPocketGuide ทางอีเมล [email protected] หรือทาง Inbox Facebook Page : @huahinpocketguide เพื่อที่ทางทีมงานจะได้ทำการตรวจสอบ และแก้ไขอัพเดทให้ถูกต้อง
*** บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ Hua Hin Pocket Guide กรุณาสนับสนุนทีมงานด้วยการแชร์ link กลับมายังเว็บไซต์ huahinpocketguide.com เท่านั้น ห้ามคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลงส่วนใดไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต